บริหารเงินสดฉบับแพทย์ทันตแพทย์จบใหม่

5 ‘เคล็ดลับสุดเจ๋ง’ บริหารเงินสดฉบับหมอๆ – ที่น่าจะรู้ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ!

สวัสดีครับน้องๆ ก่อนอื่นเลยขอแนะนำตัวก่อน พี่ชื่อบอส นพ.ชัยชิรัตน์ วงศ์จิรสกุล จบแพทย์มศว. ได้รับการชวนจากฟลุค (พงศ์ภวัน เศรษฐ์ธนันท์) เพื่อนเก่าที่คุ้นเคย รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมแบ่งปันเคล็ดลับน่ารู้ ประสบการณ์ ข้อมูล และมุมมองในการวางแผน/บริหารการเงินสำหรับน้องวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์รวมถึงสายงานสุขภาพอื่น หลายเรื่องตัวพี่เองพึ่งได้มาเรียนรู้เมื่อได้มาทำงาน ได้จัดการบริหารทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาลยันเรียนจบแพทย์มา ได้เรียนเรื่องการจัดการเงินไม่ถึง 20 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ดังนั้นการพยายามศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก!

Disclaimer: Blog นี้เหมาะกับแพทย์/ทันตแพทย์ที่กำลังใช้ทุนอยู่ในเขตต่างจังหวัด หรือโซนปริมณฑล

อาจไม่เหมาะกับสายที่ลาออกจากราชการไปทำงานรพ.เอกชน คนที่เริ่มทำคลินิกเต็มตัวเลย หรือคนที่เริ่มทำงานในรพ.เอกชนตั้งแต่แรก โดยใน blog นี้จะเริ่มเกี่ยวกับสิ่งที่เบสิกที่สุดแต่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาดนั่นก็คือ ‘การบริหารสภาพคล่อง!’ ซึ่งพี่ได้รวบรวม 5 เคล็ดลับสุดเจ๋ง เคล็ดลับหมัดเด็ดมาแชร์ประสบการณ์ให้น้องๆนำไปใช้และต่อยอดกันต่อไป

นพ.ชัยชิรัตน์ วงศ์จิรสกุล
นพ.ชัยชิรัตน์ วงศ์จิรสกุล

เขียนโดย นพ.ชัยชิรัตน์ วงศ์จิรสกุล (พี่บอส)
เรียบเรียงโดย พงศ์ภวัน เศรษฐ์ธนันท์ (พี่ฟลุค)

5 ‘เคล็ดลับสุดเจ๋ง’ บริหารเงินสดฉบับหมอๆ – ที่น่าจะรู้ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ!

1. PAY YOURSELF FIRST

“จงเก็บเงินขั้นต่ำ 10% ของรายได้ และถ้าอยากทำให้มันง่าย ทำให้มันอัตโนมัติซะ”

Pay yourself first

หลายๆครั้งพวกเรามักได้ยินคำว่า “Pay yourself first” นั่นก็คือเมื่อเงินเข้าให้รีบเปย์ตัวเองก่อนเลย โดยสิ่งแรกที่ควร ททท. หรือ ‘ทำ ทัน ที’ นั่นคือให้ เก็บเงินขั้นต่ำ 10% ของรายได้ “ทันที” ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มทำงาน ทำงานมาสักพัก หรือทำงานมานานแล้ว โดยในช่วงปีแรกของการทำงาน 10% นี้อาจจะไว้ในบัญชีเงินฉุกเฉิน (เราควรมีเงินฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน) ต่อมาพอเงินฉุกเฉินครบแล้ว ค่อยนำเงินส่วนที่เหลือไปไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อให้งอกเงยแทน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หุ้น หรือ พันธบัตร เป็นต้น

บางครั้งเราอาจะลืมโอนเงินเข้าบัญชีฉุกเฉินเอง หนึ่งในวิธีสร้างวินัยง่ายๆเลย คือ ‘ทำให้อัตโนมัติซะ’ ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่หลากหลายมากๆที่ตอบโจทย์เราได้ไม่ว่าจะ

1. ฝากประจำ
2. ตั้งโอนอัตโนมัติผ่าน mobile banking (เข้าบัญชีเงินฉุกเฉิน หรือ โอนไปให้พ่อแม่เก็บไว้)
2.1 แต่ละแอพธนาคารสามารถตั้งโอนเงินได้อัตโนมัติ ดังนั้นเราสามารถสร้างหลายบัญชีในแต่ละธนาคารเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกันได้ (ไม่ควรใช้แอพธนาคารเดียวเพราะถ้าล่มคือจบเห่เลย 555) เช่น บัญชี A ธ.สีน้ำเงิน สำหรับใช้จ่ายทั่วไป บัญชี B ธ.สีเขียวสำหรับเงินฉุกเฉินเป็นต้น

3. DCA (Dollar Cost Average; ตัดรายเดือน) เพื่อซื้อกองทุน หุ้น ทองคำ หรือ ETF เป็นต้น

“การลงทุนรายเดือน” หรือในภาษาการลงทุนเรียกว่า Dollar Cost Averaging (DCA) สามารถทำได้ผ่านหลากหลายวิธี และสามารถลงทุนได้ในหลากหลายสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรือ หุ้น ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยเราสามารถตั้งค่าให้ระบบตัดเงินเข้ากองทุนตราสารหนี้/พันธบัตร/หุ้น/ETF อัตโนมัติทุกเดือน

เราสามารถตั้งค่าเพื่อให้ตัดเงินไปยังกองทุน A B C อย่างอัตโนมัติ โดยแต่ละกองทุนมีความเสี่ยงและเป้าหมายในการใช้เงินที่ต่างกัน เช่น
เป้าหมาย A คือ เงินฉุกเฉิน ดังนั้นควรไว้ในกองทุนเสี่ยงต่ำ เช่น B-TNTV
เป้าหมาย B เพื่อซื้อรถในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นเป้าหมายที่สำคัญ จึงใช้ BMAPS25 ของบลจ.บัวหลวง เป็นต้น
เป้าหมาย C สำหรับเกษียณ หากเราเป็นคนอายุน้อยและรับความเสี่ยงได้มาก อาจใช้ BMAPS100 80%, B-VIETNAM 10%, B-CHINE-EQ 10% เป็นเครื่องมือในการวางแผนหรือเป็น core portfolio ในการลงทุน ทั้งนี้การจัดพอร์ตฯการลงทุนของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง ช่วงอายุ ความชอบ/ไม่ชอบในธีมการลงทุนบางประเภท เป็นต้น

2. 1 เป้าหมาย 1 บัญชี

“แยกเงินสำหรับแต่ละเป้าหมายออกจากกัน เช่น กิน เที่ยว ผ่อนคอนโด เพื่อไม่ให้เงินปนกันจนมั่ว”

วางแผนเพื่อแต่ละเป้าหมายทางการเงิน

อย่างที่พิมพ์ไว้ด้านบน แต่ละเป้าหมายของเราควรมีบัญชีของมันแยกของใครของมัน หากเราอยากถอยรถ จัดคอนโด เที่ยวต่างประเทศ หรืออะไรก็แล้วแต่ แนะนำให้ทำเช่นนี้ เพื่อที่เงินของเราจะได้ไม่ปนกันมั่ว หากเรายังมือใหม่ เราอาจจะใช้เป็น 1 บัญชีออมทรัพย์ต่อ 1 เป้าหมาย แต่เมื่อเราเก่งขึ้นและรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เราอาจจะเปลี่ยนจากบัญชีออมทรัพย์เป็นกองทุน ก็เป็นได้ โดยในปัจจุบันจะ Make by KBank ที่จัดการเรื่องนี้ให้เราเป็นอย่างดี

ข้อดีคือ ไม่ต้องเปิดหลายบัญชี
แต่ข้อเสียคือ ถ้าแอพล่ม คือ งานก็จะเข้าทันที ถอนเงินไม่ได้เป็นชั่วโมง

3. Walk your own pace

“ไม่ต้องโหมงานเพื่อมีไลฟ์สไตล์สุดหรู แต่จงค่อยๆสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะมันจะแลกมากับสุขภาพของคุณ”

Walk your own pace

แม้ว่าพวกเราจะเรียนจบช้ากว่าชาวบ้าน ขอเงินพ่อแม่ใช้มาตลอด 23 – 24 ปี เงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็เจอแต่คนอายุน้อยร้อยล้านกิน Omakase เป็นอาหารหลัก จองคอนโดหรู ถอยรถใหม่ เที่ยวยุโรป กันเต็มไปหมด พี่จะบอกว่าอย่าได้แคร์ อย่าไปกดดันตัวเองให้มากเกินไป จงโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้าให้ดี เงินที่หามาเองได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้น นอกจากจะหักไว้ 10% แล้วก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองบ้าง จะกินมื้อหรูบ้าง พาครอบครัว พาแฟนไปกินของดีๆบ้างก็ทำไปเถอะ แต่อย่าไปยึดติดว่าคนอื่นจะมองเรายังไงจนต้องโหมงานรับเวรเพิ่มเพื่อที่จะใช้ชีวิตกินหรูอยู่แพงตามเพื่อนๆจนต้องแลกมากับสุขภาพของเรา จงค่อยๆสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยสองมือสองขาของเรานี่แหละเท่ห์ที่สุด!

4. 3 ปี แรกอย่าพึ่งรีบสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่จำเป็น

“รูดเท่าที่มี ห้ามจ่ายขั้นต่ำ และไม่ควรผ่อนเกิน 35-45% ของรายได้ขั้นต่ำ”

สร้างหนี้บ้าน

         แพทย์เป็นอาชีพที่แปลกมากยังไม่ทันได้เริ่มทำงานมีเงินเดือน แค่วันปัจฉิมฯหรือวันจับฉลากก็มีบูธบัตรเครดิตจากหลายค่ายธนาคารมารอล่าสำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องเพื่อทำบัตรเครดิตให้เราไปใช้กันสนุกมือ จริงๆบัตรเครดิตนั้นเป็นเหมือนดาบสองคม หากเราใช้เป็นเราจะได้ประโยชน์จากมันมหาศาล ไม่ว่าจะ cashback เอย ส่วนต่างๆ โปร 10.10 ก็มาาา แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือการที่เรามีบัตรเครดิตทำให้เงินออกจากกระเป๋าเราง่ายมากๆ ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายเป็นอย่างดี

*** จงใช้ยอดบัตรเครดิตได้เต็มที่เท่ากับเงินสดที่เรามี *** คือคำแนะนำที่ดีที่สุด ส่วนตัวแล้วหากพี่รูดยอดบัตรเครดิตไปเท่าไหร่ ก็จะโอนยอดจำนวนเท่านั้นเข้าอีกบัญชีออมทรัพย์นึงไว้สำหรับจ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะ เพื่อรักษาระเบียบวินัยทางการเงินของตัวเองไว้และไม่รูดเกินเงินที่ตัวเองมี

ก่อนจะรูดซื้ออะไรคิดไว้ก่อนเลยถ้าเป็นของที่ซื้อเงินสดเราเดือดร้อนไหม ถ้าคำตอบคือ ‘ใช่’ จงเหยียบเบรคให้สุดดดด
ถ้าคำตอบคือไม่ ก็รูดไปเลยจ้า

บัตรเครดิตก็มี ‘Golden Rule’ เช่นกัน

นอกจากคำภีร์ไบเบิลที่มี Ten Commandments แล้ว บัตรเครดิตก็มี Golden rule เช่นกัน คือ

ห้ามจ่าย “ช้า” หรือ “ยอดขั้นต่ำ“ โดยเด็ดขาด!!!

ถ้ามีเหตุการณ์ที่ต้องจ่ายขั้นต่ำเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง ต้องหยุดการใช้จ่าย หยุดการกินมื้อหรูเพื่อ check in เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึง 18%! จะได้ไม่ตกอเวจีปอยเปตแสนล้านพบแสนล้านชาติชั่วนิจนิรันดร์เดี๋ยวนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้ค่ะะะะะะะ ให้กลับมาทบทวนรายรับรายจ่ายให้ดี สุดท้ายนี้ หากจะผ่อนอะไรก็ตาม ให้ผ่อนได้แค่ 2 แบบเท่านั้น คือ

1.ผ่อนบ้านผ่อนรถ เพราะเป็นการผ่อนให้เกิดสินทรัพย์ที่นับวันยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวันๆ และทรัพย์สินที่ช่วยเราหารายได้

2.ผ่อน 0% ผ่อนสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่อนสิ่งที่อยากได้บ้าง แต่ก็ต้องตั้งสติให้ดีจะได้ไม่กลายเป็นเจ้าแม่เงินผ่อน โดยการผ่อนชำระทุกสิ่งรวมกันจะต้องไม่เกิน 35-45% ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละเดือน

5. บัญชีรายรับรายจ่าย เก๋าแต่ไม่เก่า

“การทำรายรับรายจ่าย ทำให้เราเห็นเทรนด์ค่าใช้จ่ายใดที่บวมขึ้นมาแต่ละเดือน จะแก้ได้ถูกจุด และแก้ได้ทัน”

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ข้อดีหลักๆของการทำรายรับ-รายจ่าย คือ เราจะเห็นเทรนด์/ช่องทางของแต่ละรายรับ-รายจ่ายของเราอย่างชัดเจนมากๆ เช่น เรามีรายรับจากที่ไหนบ้าง (เงินเดือน รับเวรรพ.เอกชน คลินิก) รวมถึงรายจ่ายอะไรบ้าง (ค่ากิน ค่าเช่า ค่าช้อปปิ้ง) พอเราทำรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนเป็นตาราง เราจะเทียบกันเดือนต่อเดือนและเราจะเห็นทันทีเลยว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนมัน “บวมเต่ง” ขึ้นมาในเดือนนั้น เช่น อาจมีบางเดือนที่เผลอกินมื้อแพงหรือชอปปิ้งหนักไป มันจะเห็นในตารางรายรับ-รายจ่ายเลย ดังนั้นพอสติมา ปัญญาก็เกิด จะได้รู้ว่าในเดือนถัดไปต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนลงบ้าง เพื่อนำเงินส่วนต่างไปใช้ในการวางแผนภาษี หรือเป้าหมายอื่นๆต่อไป

👇 ดาวน์โหลดไฟล์ Excel จดรายรับรายจ่ายที่ปุ่มด้านล่าง 👇


หากถามตัวเองว่าเราจัดการเงินตัวเองได้ดีหรือยัง? สามารถดูได้จาก 2 อย่างหลักๆ คือ

  1. ทำรายรับรายจ่ายไหม? ค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนเป็นไปตามที่แพลนไหม?
  2. ชักหน้าถึงหลังไหมในแต่ละเดือน?

อย่างที่ทุกคนเห็นว่าการบริหารสภาพคล่องเป็นอะไรที่เบสิกที่สุดแต่ก็มองข้ามไม่ได้เลยเพราะหากเรายัง “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่า “สุขภาพการเงินเราจะพินาศแล้วนะ”

ซึ่งอาจส่งนำไปสู่การเป็นหนี้และกระทบการดำเนินชีวิต ชีวิตครอบครัวได้ ฯลฯ ดังนั้นเครื่องมือนึงที่จะช่วย “ตรวจสอบ” อาการผิดปกติของสุขภาพการเงินเรานั่นก็คือการทำ “รายรับ-รายจ่าย

หากเราสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีแล้ว เราถึงนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน วางแผนภาษี หรือวางแผนเก็บเงินตามเป้าหมาย/อนาคตของเราต่อไป ซึ่งสามารถอ่านได้จาก blog episode อื่นๆที่กำลังนำมาลงเร็วๆนี้ หรือทักมาคุยกันได้ผ่าน LINE OA ด้านล่งครับ 🙂


แวะมาคุยกับพี่ฟลุคได้ สบายๆ
ปรึกษาฟรี ไม่มีขายแน่นอนครับ

Fluke 640 640
line add friend

โทร 080-294-5216
อีเมล contact@wunlawealth.com

Similar Posts